Earth Kind Health สมุนไพรช่วยต้านโควิด

สมุนไพรช่วยต้านโควิด


สมุนไพร

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ COVID-19 ในประเทศไทยได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นจำนวนมาก ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในช่วงนี้ทั้งหมด ซึ่งการฉีดวัคซีนก็อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ของปัญหานี้ได้สักเท่าไหร่ ดังนั้นผู้คนจึงเริ่มมองหาวัตถุดิบพื้นถิ่นที่เรียกกันว่าสมุนไพร ที่จะสามารถช่วยบรรเทาอาการหรือช่วยป้องกันในเบื้องต้น ในวันนี้ได้นำเอาสมุนไพรช่วยต้านโควิด มาให้ได้นำไปใช้ป้องกัน มีอะไรบ้างมาดูพร้อมๆกันเลย

  1. กระชายขาว จากการวิจัยพบว่า สารสกัดของกระชายขาว สามารถแสดงฤทธิ์ในการต้านไวรัสซาร์ส ในระยะหลังการติดเชื้อและยังพบว่าสาร Panduratin ของกระชายขาวมีฤทธิ์ในการต้านไวรัสทั้งในระยะก่อนและหลังการติดเชื้อ และยังมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเชื้อเอดส์ ต้านไวรัสไข้เลือดออกในกลุ่ม Flaviviridae family และยับยั้งเชื้อไวรัส Picornavirus ซึ่งก่อโรคมือเท้าปาก นอกจากนี้ยังพบว่า ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อีกด้วย
  2. ฟ้าทลายโจร  สมุนไพรไทยที่แพทย์กระทรวงสาธารณสุขให้การรับรองว่า สามารถช่วยรักษาโรคโควิด 19 ได้ และถูกนำมาใช้ในการแจกให้กับผู้ป่วยควบคู่กับการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งมีการศึกษาวิจัยกันอย่างแพร่หลาย ทั้ง จีน สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทย และได้มีการนำเสนอผ่านสื่ออย่างต่อเนื่อง โดยงานวิจัยที่ได้รับการรับรองแล้วพบว่า กลไกต้านไวรัสของฟ้าทะลายโจรป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์, ลดการแบ่งตัวไวรัสภายในเซลล์, เพิ่มภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับไวรัส, ลดการอักเสบที่ปอดจากการติดเชื้อไวรัส
  3. ขมิ้นชัน จากการศึกษาพบว่าสารสำคัญของขมิ้นชัน และ Demethoxycurcumine สามารถแย่งจับกับตำแหน่งของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 ที่จะเข้าสู่เซลล์ปอด และตำแหน่งที่มีผลยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ ในส่วนของการศึกษาในหนูทดลองพบว่า ขมิ้นชัน ช่วยลดการอักเสบของปอดที่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน
  4. มะขามป้อม ปกติเรามักจะพบการใช้มะขามป้อมเป็นยาแก้ไออยู่เสมอ โดยพื้นบ้านใช้รักษาหลอดลมอักเสบ วัณโรคปอด หอบหืด ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยสารสำคัญในมะขามป้อมสามารถจับกับขาโปรตีนของไวรัสโควิด-19 และตัวรับ ACE2 ซึ่งมีบทบาทการผ่านเข้าเซลล์ปอด และยังเข้าจับกับเชื้อในหลายตำแหน่งที่มีผลต่อการยับยั้งการสร้างและการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสได้ 
  5. กระเทียม ฤทธิ์ของกระเทียมต่อระบบภูมิคุ้มกัน สาร Allicin ในกระเทียม มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ป้องกันการหลั่งสาร Cytokine ที่ทำให้เกิดการอักเสบ นอกจากนี้ยังส่งเสริมการทำงานของเม็ดเลือดขาว นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มแอนติบอดี้ ชนิด Immunoglobulin A (IgA) ซึ่งเป็นด่านแรกของภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยพบมากที่ระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร ตามเยื่อเมือกต่างๆ และยังช่วยกระตุ้นการทำงานของ B-cell Lymphocyte รวมทั้งกระตุ้นการหลั่งของสาร Interferon ซึ่งเป็นสารที่สร้างในระบบภูมิคุ้มกันเพื่อต้านไวรัส จากการจำลองภาพสามมิติในคอมพิวเตอร์ พบว่า สารสำคัญ Quercetin และ Allicin ที่พบสามารถแย่งจับกับตำแหน่ง main protease ที่ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 ได้

อย่างไรก็ตาม ในการใช้สมุนไพรเหล่านี้ควรมีการศึกษาถึงปริมาณที่ควรบริโภคของสารสำคัญที่มีในวัตถุดิบนั้น เพราะอะไรที่มากเกินไปก็มักจะทำให้เกิดโทษด้วยเช่นกัน และสารบางอย่างก็อาจจะมีอันตรกิริยากับยาบางตัว ที่ส่งผลต่อต้าน หรือเพิ่มฤทธิ์ของยา ซึ่งจะให้ผลเสียกับบุคคลนั้นๆ มากกว่าได้ประโยชน์ อีกทั้งเมื่อนำมาปรุงแต่งเป็นเครื่องดื่มที่ผสมน้ำผึ้ง หรือน้ำตาล ก็อาจจะส่งผลเสียกับผู้ป่วยบางกลุ่ม อย่างเช่นผู้ป่วยเบาหวาน เมื่อทำให้รสชาติดีขึ้นผู้ป่วยก็จะกินได้มากขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นด้วย